"ว่านหาวนอน" ไม้ป่ากินได้จากธรรมชาติ ที่มากกว่าความสวยงาม

"ว่านหาวนอน" ชื่อวิทยาศาสตร์: Kaempferia rotunda L
วงศ์ : Zingiberaceae (วงศ์ขิง)
ชื่อท้องถิ่นหลากหลายทั่วไทย : ว่านดอกดิน, ว่านตูหมูบ (เลย) ,ว่านนอนหลับ (เชียงใหม่), ว่านส้ม (ขอนแก่น) ,หว่านหาวนอน (ราชบุรี) ,เอื้องดิน (ภาคเหนือ)
🌿ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็น เหง้า ลำต้นเหนือดินสูงประมาณ 12–30 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลม กว้าง 4–6 ซม. ยาว 12–25 ซม. ก้านใบสั้นเพียง 1–2 ซม. ดอกบานก่อนใบใหม่ ช่อดอกแบบ ช่อเชิงลด คล้ายช่อกระจุก สีดอกหลากหลายตั้งแต่ขาว-ชมพู-ม่วงอ่อน-ม่วงเข้ม มีจุดสีเหลืองแต้มบริเวณโคนกลีบดอก กลีบดอกและกลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอด สวยแปลกตา
💜 เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 8 มม. รังไข่ยาว 4–6 มม.
ประโยชน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้!
- ใบอ่อนและดอกสามารถรับประทานสด เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือรับประทานคู่กับลาบ แกงเผ็ดได้อย่างเข้ากัน
- นอกจากอร่อยแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสันให้กับมื้ออาหาร 🥗
- นอกจากนี้ ยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกของมันสวยสะดุดตามาก
💚 มนต์เสน่ห์แห่งพืชป่าพื้นถิ่น
ว่านหาวนอนไม่ใช่แค่พืชกินได้ แต่เป็นตัวแทนของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรรักษาไว้ เป็นอีกหนึ่งพืชที่ควรได้รับการอนุรักษ์ และช่วยกันส่งต่อเรื่องราวของธรรมชาติไทยสู่สายตาของคนรุ่นใหม่ ✨ หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช